ตอนนี้เป็นตอนที่ 3 ซึ่งเราจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับการคำนวณการผ่อนเงินกู้กันครับ ใครที่ยังไม่ได้อ่าน 2 ตอนที่แล้วก็เชิญอ่านก่อนได้เลย เพราะจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญครับ ตอนที่ 1 / ตอนที่ 2
การ Split Cash Flow ก้อนใหญ่ให้กลายเป็น Cash Flow ย่อยๆ ด้วย PMT
ก่อนหน้านี้ เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนย้าย Cash Flow ข้ามเวลาไปยังอดีต (PV) รวมถึงย้ายไปยังอนาคต (FV) ไปแล้ว คราวนี้เราจะมาเรียนรู้การทำงานฟังก์ชั่นใหม่ นั่นคือ PMT (Payment) ซึ่งจะเป็นตัวที่สามารถ Split Cash Flow จาก 1 ก้อนใหญ่ ให้กลายเป็นหลายๆ ก้อนย่อยในแต่ละ Period โดยที่แต่ละ Period มีจำนวนเงินเท่ากันด้วย
PMT
- =PMT(rate,nper,pv,[fv],[type])
- =PMT(5%,5,-100) = 23.09748
ถ้าไม่เชื่อ เราสามารถทดสอบได้โดยการใส่ Cash Flow ไป 5 ก้อน แล้ว NPV กลับมา ดูสิว่าจะได้เท่ากับ 100 ตอนต้นหรือไม่
ซึ่งจะได้ว่า เมื่อ =NPV(5%,23.09747,23.09747,23.09747,23.09747,23.09747) = 100 จริงๆ ครับ
การประยุกต์ใช้
เรามักจะใช้ PMT กับการคำนวณการผ่อนเงินกู้ เช่น ถ้าซื้อบ้าน 10 ล้านบาท สมมติต้องดาวน์ 20% ทำให้ต้องกู้จริงๆ คือ 80%*10000000 หรือ 8 ล้านบาท โดยธนาคารให้ผ่อน 30 ปี ที่อัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี จะต้องผ่อนเดือนละเท่าไหร่?
ตรงนี้จุดสำคัญคือ เราต้องคิดก่อนว่า การผ่อนเป็นการผ่อนรายเดือน นั่นคือ 1 Period = 1 เดือน ดังนั้นจำนวนงวดทั้งหมดจะมี =30*12 = 360งวด (ในความเป็นจริง ธนาคารจะคิด 1 Period ของการคิดดอกเบี้ย =1 วัน แต่เพื่อความง่าย ผมขอคิดเป็นเดือนนะครับ)
ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยก็จะต้องเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อ 1 Period ด้วย ก็จะถูกต้องมากขึ้น เช่น 6%/ปี หารด้วย 12 เดือน/ปี =6%/12 = 0.5%/เดือน หรือ 0.5%/Period นั่นเอง
เมื่อเข้าสูตร PMT จะได้ว่า
- =PMT(6%/12,30*12,-10000000*80%) หรือ
- =PMT(0.5%,360,-8000000)
- = 47,964.04 บาท/เดือนนั่นเอง
ถ้าอยากรู้ว่าผ่อนไป 10 ปี จะเหลือหนี้เท่าไหร่?
อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าการหาเงินในอนาคต เราต้องใช้ FV แต่พอมีการผ่อนด้วย เราจึงต้องใส่ค่า PMT ไปด้วย (จากที่เดิมเคยว่างไว้) โดย nper ที่ระบุ เป็นเงินใน 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นต้องใส่ nper เป็น 10 ปี คือ 120 งวด
- =FV(rate,nper,pmt,[pv],[type])
- =FV(0.5%,120,47964.042,-8000000)
- = 6,694,858.00 บาทนั่นเอง
ถ้าอยากทดสอบว่ามันคำนวณถูกหรือไม่ ให้ลองใส่ nper เป็น 30 ปี หรือ 360 งวด ซึ่งมันควรจะออกมาได้ 0 เพราะว่าผ่อนหมดพอดีครับ
เอาล่ะครับ เท่านี้ ผมก็คิดว่าเพื่อนๆ น่าจะมีพื้นฐานด้านการคำนวณทางการเงินเพิ่มมากขึ้นแล้วล่ะ ถ้าใครอยากรู้เรื่องไหนเป็นพิเศษก็ post บอกได้นะครับ ตอนนี้ผมขอตัวไปเขียนหนังสือต่อก่อนล่ะ