ปัจจุบันกระแส Automation กำลังมาแรง เครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยทำให้การทำงานเป็นอัตโนมัติมีมากมาย เช่น Zapier, Make, หรือ Power Automate แต่ยังมีอีกหนึ่งเครื่องมือที่เจ๋งไม่แพ้กัน แถมยัง ฟรี และ ยืดหยุ่น มากกว่า นั่นคือ n8n
สารบัญ
n8n คืออะไร?
n8n (อ่านว่า “n-eight-n”) เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้าง Automation Workflow แบบ No-Code (ไม่ต้องเขียนโค้ด) หรือ Low-Code (เขียนโค้ดเล็กน้อย) โดยผู้ใช้สามารถออกแบบการทำงานเชื่อมต่อแอปพลิเคชันต่างๆ ผ่านการ ลาก-วางโหนด (Node) ที่เชื่อมโยงการทำงานระหว่างแอปต่างๆ เช่น Gmail, Google Sheets, Line, Notion หรือแม้แต่ AI Models เช่น OpenAI GPT ได้ง่ายๆ
หมายเหตุ : ถ้าใครเคยผ่านบทความ ComfyUI ที่ใช้ gen รูป AI มา ก็จะเข้าใจ n8n ได้ไม่ยากเลย

โดยเราสามารถออกแบบการทำงาน Automation โดยเลือกเชื่อมต่อ Node ที่มีอยู่มากมาย เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันต่างๆ ได้หลากหลาย เช่น Gmail, Google Sheets, Line, Notion, หรือแม้กระทั่งการเชื่อมต่อกับ AI Model เช่น OpenAI GPT, Claude หรือ API ของเราเอง
นี่คือตัวอย่างบางส่วน (จากทั้งหมดมากกว่า 1,000 integrations)

นอกจากนี้ n8n ยังมี Template ตัวอย่างมากมายกว่า 1,000 แบบ (https://n8n.io/workflows/) ให้คุณดาวน์โหลดไปใช้งานได้ทันที ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและเปิดโอกาสให้คุณสร้าง Automation ได้รวดเร็วขึ้น
แถมยังเลือกดูตาม Creator ที่เราสนใจได้ด้วย เช่น https://n8n.io/creators/max-n8n/

หรือของผมเองก็มี (เดี๋ยวจะเพิ่ม Template ให้เรื่อยๆ นะ) https://n8n.io/creators/siraekabut/

รูปแบบการใช้งาน n8n
- Cloud (ผ่าน n8n.io): ไม่ต้องตั้งค่าใดๆ เพียงสมัครใช้งานก็สามารถสร้าง Automation ได้ทันที มีค่าใช้จ่าย แต่สามารถทดลองใช้งานฟรี (แต่อย่าลืมกดยกเลิกล่ะ 555)
- Self-Hosted (ติดตั้งใช้งานเอง): สำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระบบอย่างเต็มที่ n8n สามารถติดตั้ง n8n ได้แบบฟรีๆ บนคอมพ์ตัวเอง เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว หรือบริการ Cloud เช่น Docker หรือ npm โดยไม่มีข้อจำกัดในการรัน Workflow เรียกได้ว่าเป็นตัวเลือกที่ดีมากๆ สำหรับสายประหยัด!
ข้อดีของ n8n
จุดเด่นของ n8n อยู่ที่ ความยืดหยุ่นและความคุ้มค่า ซึ่งแตกต่างจากเครื่องมือ Automation อื่นๆ ที่อาจมีข้อจำกัดในการเชื่อมต่อแอปหรือคิดค่าบริการตามการใช้งาน n8n ไม่ได้จำกัดความซับซ้อนของ Workflow คุณจะออกแบบการทำงานให้เชื่อมต่อกี่แอป กี่ขั้นตอนก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
- ยืดหยุ่นสูง Customize ได้เยอะ ใครก็สามารถเริ่มใช้งานได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่ถ้าเขียนโปรแกรมภาษา JavaScript ได้ (ใช้ AI ช่วยก็ได้) ก็ยิ่งสามารถ Customize ได้ดีขึ้นอีก
- ประหยัดในระยะยาว เพราะ n8n ไม่จำกัดความซับซ้อนของ Workflow คุณสามารถเชื่อมต่อแอปพลิเคชันได้หลายตัวและตั้งค่าให้ทำงานซับซ้อนเพียงใดก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามการใช้งาน
เรามาดูรายละเอียดแต่ละประเด็นกัน
n8n นั้นมีความยืดหยุ่นสูงมาก
n8n เป็นโปรแกรม No Code/Low Code ที่เปิดให้ผู้ใช้งานดูและแก้ไขโค้ดได้ (Source-available) และสามารถติดตั้งใช้งานเองได้ ทำให้เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการทำ Automation ที่ต้องการความปลอดภัยและการควบคุมข้อมูลอย่างสูง
- ถูกออกแบบมาให้รองรับการใช้งานแบบซับซ้อน ซึ่งโปรแกรมเมอร์ที่สามารถเขียน Code ได้ ก็สามารถสร้างงานที่ซับซ้อนได้มากขึ้น โดยสามารถเขียน JavaScript ได้เต็มที่ (หรือ Python ได้นิดหน่อย) เพื่อตั้งค่า Logic หรือแปลงข้อมูลได้โดยตรง
- ไม่ง้อ Integration มาตรฐาน ถ้าสิ่งที่เราต้องการเชื่อมต่อ ยังไม่มีให้เลือกในโปรแกรม เราก็ยังสามารถหาทางเชื่อมต่อ API เองผ่าน Node กลางๆ เช่น HTTP Request Node ได้ด้วย ทำให้เปิดความเป็นไปได้อีกมากมายในการทำ Automation ครับ
เทียบราคา
สรุปราคา n8n แบบ cloud
n8n (แบบ Cloud) มีรูปแบบการคิดค่าบริการโดยคิดตามจำนวนครั้งของการทำงานของ Workflow ทั้งหมดว่ารันกี่ครั้ง (workflow executions) ซึ่งต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่าง Make หรือ Zapier ที่ตามจำนวนขั้นตอนหรือการกระทำย่อยๆ ในแต่ละ Workflow


- ค่าใช้จ่าย n8n เป็นแบบคงที่ แม้ Workflow จะซับซ้อนแค่ไหนก็ตาม โดยเริ่มต้น package ที่ €20 ต่อเดือน สำหรับการใช้งาน 2,500 workflow executions (กดทดลองได้ แต่อย่าลืมกดยกเลิกก่อนครบกำหนด)
- ถ้าเทียบกับ Make ที่ให้บริการเฉพาะแบบ Cloud โดยมีแพลนเริ่มต้นที่ $9/เดือน แต่ราคาอาจเพิ่มขึ้นตามจำนวนการกระทำในแต่ละ Workflow ที่สูงขึ้น (ถ้าใช้น้อยอาจจะถูกกว่า n8n Cloud)
- n8n ไม่มีการจำกัดการเชื่อมต่อหรือการใช้งานแอปพลิเคชันแบบพรีเมียม ทุกการเชื่อมต่อสามารถใช้งานได้ฟรี
- เมื่อเทียบกับ Make ที่คิดค่าบริการตามจำนวนการกระทำ (operations) n8n จะถูกกว่าในระยะยาว เนื่องจากคุณจะไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับ Workflow ที่มีหลายขั้นตอนหรือการเชื่อมต่อมากมาย
สรุปราคา n8n แบบ Self Host
แต่ๆๆๆ ถ้าเราใช้ n8n แบบ Self Host คือยิ่งเสียตังน้อยไปอีก! ซึ่งแบบนี้คือแบบที่ผมอยากจะแนะนำสำหรับสายประหยัดครับ!!
- เราสามารถโหลดโปรแกรมมาลงฟรี
- ถ้า Host ในคอมพ์ตัวเองเลย แบบ Local Machine นี่ เสียแต่ค่า API เท่านั้น คือประหยัดขั้นสุด แต่ข้อเสียคือต้องเปิดคอมพ์ทิ้งไว้ ถึงจะรันแบบ Auto ได้จริง
- ถ้าไปเช่าบริการ Server แบบ Online ก็สามารถหาได้ในราคาเดือนละไม่ถึง 5-10 USD + ค่า API อีก ก็ถือว่าเป็นวิธีที่ประหยัดสุดๆ แล้วครับ สำหรับการทำ Automation
ในเมื่อเห็นข้อดีแบบนี้แล้ว เราลองมา Install n8n แบบฟรีๆ ในเครื่องตัวเองกันก่อนดีกว่า (ฟรี!)
วิธี Install n8n แบบฟรีๆ ในเครื่องตัวเอง
การ install n8n แบบใช้ฟรี ทำได้ 2 แนวทาง คือ
วิธี 1 ผ่าน docker หรือ วิธี 2 ผ่าน npm (node package manager) ของ node.js
ซึ่งผมคิดว่า npm จะเหมาะกับคนทั่วไปมากกว่า เลยจะขอแนะนำแนวทางการลงผ่าน npm ดังนี้นะครับ ซึ่งอาจดู nerdๆ นิดนึงอย่าเพิ่งตกใจ ทำตามไปเดี๋ยวได้เอง 555
วิธีการคือ
- install โปรแกรมที่ชื่อว่า Node.Js โดยโหลดจาก https://nodejs.org/
- ตรวจสอบว่า install เรียบร้อยแล้ว โดย run แล้วเข้า cmd (หน้าจอดำๆ) แล้วพิมพ์ว่า
node -v
npm -v
ถ้าลงสำเร็จก็จะมีเลข version เด้งขึ้นมา

3. ต่อไปเราจะ install n8n โดยพิมพ์ว่า
npm install -g n8n
กด enter จากนั้นก็รอไปยาวๆ จะขึ้นแบบนี้

ลงเสร็จจะขึ้นแบบนี้

อัปเดทโปรแกรม n8n
พิมพ์ใน cmd ว่า
npm update -g n8n
เรียกใช้โปรแกรม n8n
เราสามารถเรียกใช้โปรแกรม n8n ขึ้นมาโดยพิมพ์ว่า n8n ใน cmd แล้วกด enter
n8n
จะได้แบบนี้

กดไปที่ Ctrl+Click ที่ Link http://localhost:5678/ ที่ขึ้นมา หรือกด o ก็ได้
มันจะขึ้นมาให้ setup user ก็ใส่ไปได้เลยตามปกติ จากนั้นโปรแกรมก็จะขึ้นแบบนี้

กด Start From Scratch เพื่อเริ่มสร้าง Workflow ใหม่
เริ่มสร้าง Workflow แรก ลองดึงราคาน้ำมัน
สมมติเราจะลองทำ Workflow แบบง่ายๆ ที่ยังไม่ต้องไปเชื่อมต่อบริการที่อื่นก่อน (เพราะต้องอธิบายอีกยาว) งั้นผมของลองให้ทำแบบนี้นะครับ
Workflow ต่างๆ จะต้องเริ่มจาก Trigger ซึ่งจะเป็นจุดที่ทำให้ Workflow ทำงาน ซึ่งค่า Default ตอนนี้คือการกดปุ่มแบบ Test Workflow แบบ Manual ซึ่งใช้ได้ ไม่เป็นไร (ในอนาคตเราจะลอง Trigger อื่น ซึ่งมีอีกเยอะ เช่น รันอัตโนมัติทุกๆ xx นาที)
เราสามารถกด + เพื่อ search node เพื่อ add node ที่ต้องการได้เลย

ลองใช้ HTTP Request Node ดูครับ มันมีความสามารถในการส่ง/รับข้อมูลจากเว็บไซต์ได้

ในที่นี้ เราจะลองให้มันดึงข้อมูลราคาน้ำมันจาก URL ที่เป็น API ของทางบางจาก (ง่ายดี) ดังนี้
https://oil-price.bangchak.co.th/ApiOilPrice2/th
วาง URL แล้วกด Test Step มันจะทดสอบว่า Node นี้ทำงานได้หรือไม่ โดยจะเห็น Input ที่ส่งเข้ามาให้ Node มาจากหน้าต่างด้านซ้าย และเห็นผลลัพธ์ของ Node ทางด้านขวาแบบชัดๆ เลย ว่ามันสามารถอ่านข้อมูลจาก URL ที่เราระบุได้

เดี๋ยวเราจะลองบันทึกข้อมูลที่ได้ลงไฟล์ csv บนเครื่องอันนึงขำๆ ก่อน (ไว้ตอนต่อๆ ไปค่อยดูวิธี save ลง google sheets หรือ database อื่นนะ)
ก่อนอื่น กด Back to Canvas ที่มุมซ้ายบนออกมาหน้า Workflow ก่อน แล้วกด Add Node ต่อ ซึ่งการ save file นั้นไฟล์จะต้องเป็น Binary ก่อน เราจะบันทึกข้อความหรือ JSON ไปตรงๆ ไม่ได้
ดังนั้นเราจะทำการ Convert JSON เป็น csv ก่อน โดยใช้ Node Convert to File แล้วเลือก Convert to CSV (หรืออันอื่นแล้วแต่ต้องการ)

จากนั้นค่อยต่อด้วย Node Read/Write Files from Disk เลือกแบบ Write File to Disk แล้วใส่ Path และชื่อไฟล์ตามต้องการ

พอเราลองมารัน Workflow ทั้งหมดดู โดยกด Test Workflow มันควรจะมี File ถูกสร้างขึ้นมาตามที่เรากำหนดครับ

ไฟล์ออกมาจริงๆ มีข้อมูลมาจริง (แต่อาจยังไม่เรียบร้อย)

ถ้า Workflow ใช้ได้ เราก็กด Save Workflow แล้วตั้งชื่อ หรือกำหนด tag เอาไว้ search ได้เลย

พอเรากดที่ปุ่ม Home ด้านซ้ายสุด เราจะเห็นหน้า workflow ทั้งหมดที่เราทำไว้ ซึ่งสามารถ add workflow เพิ่ม หรือจะไปโหลดจาก Template ที่มีให้เลือกมหาศาลก็ได้

ตอนต่อไป
บทความนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ในตอนต่อไปเราจะเรียนรู้การเชื่อมต่อกับแอปต่างๆ และระบบออนไลน์ผ่าน API เช่น Gmail, Google Sheets, OpenAI ฯลฯ ใครสนใจอย่าลืมติดตามต่อกันได้นะครับ!
Leave a Reply