Payback-period-excel ระยะเวลาคืนทุน

การคำนวณระยะเวลาคืนทุน ( Payback Period)

หากพูดเรื่องของการใช้ Excel เพื่อคำนวณเกี่ยวกับบัญชีการเงินการลงทุนนั้น การคำนวณระยะเวลาคืนทุนหรือ Payback Period ก็เป็นอีกเรื่องที่มีหลายคนมักถามผมมามากเช่นกัน ดังนั้นก็เลยคิดว่าน่าจะเขียนเป็นบทความเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มากซะเลย

เพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายที่สุด ผมขอใช้ตัวอย่างที่ Simple มากๆ เลย ดังนี้

ตัวอย่างที่ Simple แต่ชัดเจน

สมมติว่าเรามีเงินเข้าและเงินออกในแต่ละปี เราจะสามารถคำนวณเงินสุทธิในแต่ละปีได้ดังนี้

เงินสุทธิ = เงินเข้า-เงินออก

หลักๆ คือ เราต้องการทำให้เงินเข้าสุทธิเป็น + และ เงินออกสุทธิเป็น – นั่นเอง (ดังนั้นถ้าเงินออกเป็นลบอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปลบมันซ้ำนะ)

การคำนวณระยะเวลาคืนทุน ( Payback Period) 1

หากต้องการคำนวณระยะเวลาคืนทุน วิธีที่ง่ายที่สุดคือคำนวณเงินสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนี้

=SUM($C$4:C4)
โดยใส่ $ lock แค่จุดตั้งต้น ไม่ lock จุดจบ เพื่อให้ลากไปทางขวาได้
การคำนวณระยะเวลาคืนทุน ( Payback Period) 2

ถามว่ามันคุ้มทุนตอนไหน?

หากคุณตอบว่า ปีที่ 5… ถามว่ารู้ได้ไง?

หากบอกว่าก็ดูเอา… แล้วลองคิดดูสิว่าคุณมีวิธีดูยังไง?

คำตอบคือ ดูปีแรกที่เงินได้สะสม มากกว่าเท่ากับ 0 นั่นเอง

วิธีเขียนสูตร Payback Period แบบเต็มปี

เรามีวิธีเขียนสูตรได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับ version ของ Excel

ถ้ามี Excel 365

ใน Excel 365 มีตัวขี้โกงอย่าง XLOOKUP ให้ใช้ ดังนั้นจะเขียนเงื่อนไขได้ง่ายมากดังนี้

=XLOOKUP(lookup_value,lookup_array,return_array,[if_not_found],[match_mode],[search_mode])
=XLOOKUP(0,C6:J6,C1:J1,"-",1,1)
  • เราหาค่า lookup_value คือเลข 0
  • lookup_array คือ เงินสะสมสุทธิ C6:J6
  • return_array คือ ชื่อปีของเรา นั่นคือ C1:J1

โดยที่ใส่ match_mode เป็น 1 ซึ่งแปลว่าให้หา Exact match or next larger item นั่นคือ จะได้ค่า 0 หรือมากกว่า

การคำนวณระยะเวลาคืนทุน ( Payback Period) 3

ส่วน Search Mode เราจะเลือก Mode 1 เพื่อให้หาตั้งแต่แรกสุดไล่ไปหลังสุด (จริงๆ เป็นค่า default อยู่แล้ว แต่ผมใส่ให้ชัดเจน)

การคำนวณระยะเวลาคืนทุน ( Payback Period) 4

เราก็จะได้ผลลัพธ์ตามต้องการ

การคำนวณระยะเวลาคืนทุน ( Payback Period) 5

ถ้าไม่มี Excel 365

วิธีที่ผมคิดว่าง่ายที่สุด คือใช้ MATCH ร่วมกับ INDEX ซึ่งผมจะใช้ MATCH หาก่อนว่าตัวไหนคือตัวแรกที่มากกว่าหรือเท่ากับ 0 ดังนี้

=MATCH(1,1/(C6:J6>=0),0)
**ถ้าไม่ใช่ Excel 365 ต้องกด Control+Shift+Enter ด้วยนะ เพราะเป็นสูตร Array

จากนั้นพอเราได้ลำดับว่าเลขที่มากกว่าหรือเท่ากับ 0 ตัวแรกอยู่ที่ไหน ก็สามารถเอาค่ากลับมาได้ด้วย INDEX ดังนี้

=INDEX(C1:J1,ค่าที่ MATCH ได้)

สรุปรวบสูตรได้ดังนี้

=INDEX(C1:J1,MATCH(1,1/(C6:J6>=0),0))
**ถ้าไม่ใช่ Excel 365 ต้องกด Control+Shift+Enter ด้วยนะ เพราะเป็นสูตร Array
การคำนวณระยะเวลาคืนทุน ( Payback Period) 6

วิธีเขียนสูตร Payback Period แบบคิดเป็นสัดส่วนของปีได้

แบบนี้หลักการคือ ถ้าเรารู้ค่าของ 2 ปีที่คร่อมเลข 0 อยู่ ให้มองเหมือนเป็นรูปสามเหลี่ยมแล้วดูว่าค่าที่ทำให้เงินสะสมสุทธิเป็น 0 พอดีคือปีที่เลขอะไร? ซึ่งจะเทียบ Ratio สามเหลี่ยมคล้ายก็ได้ แต่ผมจะใช้ฟังก์ชัน FORECAST มาช่วยดังนี้

การคำนวณระยะเวลาคืนทุน ( Payback Period) 7

แปลว่าถ้าผมรู้ยอดเลขสะสมแต่ละปีที่คร่อม 0 อยู่ ผมก็จะคำนวณแบบละเอียดได้ ดังนั้นจึงเขียนเพิ่มดังนี้

ถ้ามี Excel 365

Payback period excel คำนวณระยะเวลาคืนทุน

ถ้าไม่มี Excel 365

Payback period excel คำนวณระยะเวลาคืนทุน

ถ้าจะแปลงปีละเอียดแบบทศนิยมให้เป็น ปี กับ เดือน ล่ะ?

วิธีที่เข้าใจง่ายที่สุดก็คือใช้ INT เพื่อเอาเลขจำนวนเต็ม แล้วค่อยลบกันเพื่อเอาเลขทศนิยม

จากนั้นค่อยเอาเลขทศนิยมไปคูณ 12 ให้เป็นเดือน

ทีนี้เพื่อให้มันเป็นเดือนแบบเต็มๆ เลยใช้ ROUNDUP ปัดขึ้นอีกทีนึง สรุปได้ดังนี้

Payback period excel คำนวณระยะเวลาคืนทุน

เรื่องของ Time Value of Money

ปกติแล้ว การคำนวณ Payback Period หรือระยะเวลาคืนทุนนั้นจะไม่สนใจเรื่อง Time Value of Money (หรือคุณค่าของเงินที่ลดลงตามกาลเวลา) ดังนั้นถ้าคุณจะแคร์เรื่องนี้ด้วย อย่าลืมประยุกต์ใช้พวก PV มา Discount Cashflow ก่อนจะคิด Payback Period ด้วยล่ะ

สรุป

เป็นยังไงบ้างกับการคิดระยะเวลาคืนทุนที่ผมนำเสนออันนี้ครับ ใครทำแล้วติดขัดอะไร หรืออยากให้ทำอะไรเพิ่มตรงไหนก็บอกได้เลยนะ

อบรม In-House Training

Feedback การใช้งาน AI Chatbot